เกาะสิมิลัน Similan Islands สวรรค์ของนักดำน้ำ เกาะในฝันของใครหลายๆ คน
“สิมิลัน” เป็นภาษายาวี หรือมลายู แปลว่า “เก้า” จึงมีชื่อเรียกกันว่า หมู่เกาะสิมิลัน หรือเกาะเก้า ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ 9 เกาะด้วยกัน ได้แก่ เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะปายัง และเกาะหูยง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ประมาณ 70 กิโลเมตร และห่างจากท่าเทียบเรือหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 90 กิโลเมตร
เกาะสิมิลัน ถือเป็นเกาะที่มีระบบนิเวศน์อุดมสมบูรณ์และสวยงามมาก ตั้งแต่หาดทรายสีขาวละเอียด ต้นไม้ที่มีความเขียวขจี ที่ตัดกับสีฟ้าใสของน้ำทะเล ไปจนถึงความงามของใต้ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยปลาหลากหลายชนิดแหวกว่ายไปมาระหว่างประการังอันสวยงามและสมบูรณ์ ทำให้นักท่องเที่ยวและนักดำน้ำทั่วโลกต่างพากันหลงรักหมู่เกาะสิมิลัน
ไฮไลท์ของหมู่เกาะสิมิลัน คือ เกาะแปด ที่มีจุดเด่นเป็น หินเรือใบ (Sailing Rock) ถือว่าเป็นแลนด์มาร์คที่ใครมาถึงก็ต้องถ่ายภาพ เรียกได้ว่าถ้าใครไม่ได้เก็บภาพกลับไป ถือว่ามาไม่ถึง !
ในปี พ.ศ. 2525 หมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติในลำดับที่ 43 ของประเทศไทย มีขนาดพื้นที่ 128 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 80,000 ไร่ และในปี 2541 ได้ผนวกพื้นที่บริเวณ “เกาะตาชัย” เพิ่มอีก 12 ตารางกิโลเมตร เข้าเป็นอุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่เกาะและห้วงน้ำทะเลรอบเกาะที่มีปะการังสมบูรณ์ ในท้องที่เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร หรือ 87,500 ไร่ พื้นที่เกาะซึ่งเป็นที่ดินมีประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร (16,250 ไร่) ชายฝั่งทะเลในหมู่เกาะสิมิลัน เป็นส่วนภาคตะวันออกของทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดียที่มีการลดตัวลงของพื้นทะเล (SUBMERGENT SHORELINE) จึงมีการกัดเซาะพังทลายโดยมีน้ำทะเลเป็นตัวกระทำอย่างรุนแรงทำให้บริเวณเกาะทั้ง 9 เกาะ เกิดเป็นลักษณะภูมิประเทศที่แปลกตา มีรูปร่างต่างๆ อันเป็นผลจากขบวนการกัดเซาะ สำหรับหินที่พบในหมู่เกาะสิมิลัน ทั้ง 9 เกาะ เป็นหินอัคนีชนิด granite อายุของหินนี้อยู่ระหว่างยุค Tertiary – cretaceous ประมาณ 65 ล้านปีที่
ข้อมูลจาก : http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1043
เรียบเรียงโดย : ลีลาวดี